จริยศาสตร์ของคาร์ล มาร์กซ์

จริยศาสตร์ของคาร์ล มาร์กซ์

 

1. บทนำ

จริยศาสตร์ (Ethics) หมายถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยศีลธรรม หลักศีลธรรม กฎที่ว่าด้วยความประพฤติและพฤติกรรม (วศิน อินทสระ, 2518, น. 2) คำว่าศีลธรรมนี้บางครั้งก็ใช้คำว่าจริยธรรมแทน ดังที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ที่นิยามคำ “จริยธรรม” ว่า “ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม” ดังนั้น บางทีจึงมีผู้เรียกจริยศาสตร์ว่า จริยปรัชญาหรือปรัชญาจริยธรรม (Moral Philosophy)

จริยศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาที่ศึกษาถึงประเด็นปัญหาอันหลากหลาย เช่น อะไรคือสิ่งดีที่สุดที่มนุษย์ควรแสวงหาและยึดถือ เราใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี อะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ เป็นต้น

โดยทั่วไปจริยศาสตร์แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือจริยศาสตร์หรือศาสตร์ที่ว่าด้วยศีลธรรมระดับปัจเจกบุคคล (Personal Ethics) และจริยศาสตร์หรือศาสตร์ที่ว่าด้วยศีลธรรมระดับสังคม (Social Ethics) กล่าวคือ จริยศาสตร์ระดับปัจเจกบุคคลเป็นการศึกษาเกี่ยวกับศีลธรรม หลักศีลธรรม กฎที่ว่าด้วยความประพฤติ ตลอดจนเกณฑ์ในการตัดสินคุณค่าจริยะในระดับปัจเจกบุคคลเพื่อการบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิตเฉพาะตัวปัจเจกบุคคลเอง ส่วนจริยศาสตร์สังคมเป็นการศึกษาเกี่ยวกับศีลธรรม หลักศีลธรรม กฎที่ว่าด้วยความประพฤติ ตลอดจนเกณฑ์ในการตัดสินคุณค่าจริยะที่วางไว้ให้สมาชิกในสังคมพึงปฏิบัติเพื่อให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง มีความเจริญก้าวหน้าและสมาชิกในสังคมมีความสุข

แนวคิดหรือทฤษฎีจริยศาสตร์สังคมจึงเกี่ยวข้องกับความประพฤติของมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมที่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะ จริยศาสตร์สังคมเป็นเรื่องในระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ตัวอย่างแนวคิดจริยศาสตร์สังคมที่เด่นชัด เช่น จริยศาสตร์สังคมในพุทธจริยศาสตร์อันเป็นเรื่องในระดับโลกิยธรรม แม้ว่าจะเป็นธรรมในระดับโลกิยะแต่เป็นคุณค่าที่คนในสังคมพึงยึดถือเพราะเป็นแนวทางที่ทำให้ชีวิตเป็นทุกข์น้อยลง เนื่องจากเป็นหลักธรรมที่คนในฐานะเป็นหน่วยสังคมควรยึดปฏิบัติเพื่อให้เหมาะแก่ฐานะของตนในสังคม ฐานะนี้อาจเป็นฐานะทางสังคมธรรมดา เช่น เป็นพ่อแม่ ญาติ ครู อาจารย์ ตัวอย่างเช่น หลักทิศ 6 ที่กล่าวถึงการกำหนดการกระทำและการตอบแทนทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายให้หรือเป็นฝ่ายรับเพียงอย่างเดียว เป็นการยึดหลักสิทธิและหน้าที่อย่างแท้จริง (ปรีชา ช้างขวัญยืน, 2520, น. 111) ซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของทุกๆ สังคมที่ต้องการให้มนุษย์มีความเท่าเทียมกันทางสิทธิเสรีภาพ โดยปราศจากความทุกข์ มีความสุขร่วมกันและเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นๆ อย่างแท้จริง ปัญหาทางจริยศาสตร์สังคมจึงถือเป็นปัญหาของทุกคน และนักคิดนักปรัชญาที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในสังคมและนำเสนอแนวคิค หลักการ วิธีประพฤติปฏิบัติต่อกันของคนในสังคมก็ควรนับเป็นนักจริยศาสตร์สังคมด้วย หนึ่งในนักปรัชญาที่ควรถือได้ว่ามีแนวคิดจริยศาสตร์สังคมและมีอิทธิพลต่อนักคิดอื่นๆมากที่สุดคนหนึ่งได้แก่ คาร์ล มาร์กซ์ นักปรัชญาชาวเยอรมันเชื้อสายยิว

คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1818 และถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1883 คาร์ล มาร์กซ์มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมรุ่งเรือง แม้อุตสาหกรรมจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นแต่คนส่วนใหญ่ยังคงเป็นกรรมกรผู้ยากแค้นและมีชีวิตอยู่อย่างไร้คุณภาพ ถูกปฏิเสธราวกับเป็นสัตว์หรือเป็นชิ้นส่วนของเครื่องจักร คาร์ล มาร์กซ์ได้เห็นถึงปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินของชนชั้นกรรมาชีพโดยชนชั้นนายทุนว่าเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ดังคำกล่าวของคาร์ล มาร์กซ์ (2549) ที่ว่า

ชีวิตที่เด่นอย่างเดียวของนายทุนก็คือการเพิ่มทวีของมูลค่า พยายามขูดรีดมูลค่าส่วนเกินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในร่างของกรรมกรรับจ้าง ขอเพียงแต่มีเนื้อก้อนหนึ่ง, เอ็นเส้นหนึ่ง, เลือดหยดหนึ่งเท่านั้นแหละ มันจะไม่ยอมปล่อยมือ ทุนเป็นแรงงานที่ตายเหมือนกับผีดิบที่กินเลือดคน มันจึงต้องดูดเอาแรงงานที่มีชีวิต จึงจะมีชีวิตอยู่รอดได้ โดยดูดได้มากเท่าไหร่ ชีวิตของมันก็ยิ่งจะมีชีวิตชีวากระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น (แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์, น. 142)

ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมาชีพนั้นปรากฏช่องว่างของความแตกต่างที่กว้างมาก นายทุนผู้ร่ำรวย สุขสบายอยู่บนการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากกรรมกร ทั้งชั่วโมงการทำงานที่เกินกำลัง ค่าตอบแทนที่พอประทังชีวิต ความเป็นอยู่ที่แออัด เป็นต้น ความต่างที่เห็นได้ชัดนี้ไม่เป็นธรรมสำหรับ ชนชั้นกรรมาชีพ คาร์ล มาร์กซ์จึงได้เสนอแนวคิดเพื่อให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกันโดยการสลายชนชั้นระหว่างกรรมกรกับนายทุนด้วยวิธีการต่างๆ กล่าวได้ว่าสำหรับคาร์ล มาร์กซ์นั้น ความเท่าเทียมกันของคนในสังคมเป็นความยุติธรรม และเกณฑ์ที่ทำให้เกิดความยุติธรรมดังกล่าวคือ ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ทางรายได้ ด้วยเหตุนี้ระบบมาร์กซิสต์จึงเน้นความยุติธรรมที่ความเท่าเทียมกันในแง่เศรษฐกิจ ให้ทุกคนมีรายได้เท่าเทียมกัน แต่เนื่องจากระบบมาร์กซิสต์ไม่เห็นด้วยกับการมีทรัพย์สินส่วนตัว (Private Property) จึงตัดปัญหาเรื่องรายได้ออกไป เขาเห็นว่า “ระบบทรัพย์สินส่วนตัวเป็นพื้นฐานของระบบทุนนิยม ทรัพย์สินส่วนตัวนำไปสู่ความชั่วร้าย ความเห็นแก่ตัว (Egoism) นำไปสู่การใฝ่หาผลประโยชน์เฉพาะตน” (อ้างถึงในพรทิพา บรรทมสินธุ์, 2523, น. 17)

จากทัศนะดังกล่าว ผู้คนจึงรู้จักคาร์ล มาร์กซ์ในฐานะนักคิด นักเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจการเมืองภายใต้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แนวคิดดังกล่าวเน้นเรื่องการสลายเส้นแบ่งทางชนชั้นระหว่างกรรมกรและนายทุนเพื่อก่อเกิดความเท่าเทียมกัน ถือได้ว่าความยุติธรรมเกิดขึ้นแล้วภายในสังคม สังคมที่ความยุติธรรมเกิดขึ้นแล้วนั้นมีเกณฑ์หรือมาตรฐานทางจริยศาสตร์สังคมอยู่ที่การสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างชนชั้นกรรมาชีพและนายทุน รวมไปถึงอำนาจทางเศรษฐกิจ อนึ่ง ตามทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ มาตรฐานทางจริยธรรม คืออำนาจทางเศรษฐกิจ (Economic Force) จึงนับว่าเป็นการปฏิเสธหลักจริยธรรมที่แน่นอนตายตัว (Absolute Ethics) จริยธรรมเปลี่ยนไปตามแรงเศรษฐกิจ ดี-ชั่ว ถูก-ผิด เป็นเรื่องสมมติสัจจะ (The Relative) เปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ (Circumstances) โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (น้อย พงษ์สนิท, 2520, น. 68)

โปรดอ่านต่อฉบับเต็มได้ในนิตยสารวิภาษา ปีที่ 6 ฉบับที่ 5 ลำดับที่ 45

“แนวคิดทางจริยศาสตร์สังคมของคาร์ล มาร์กซ์” โดยชิษณุพงษ์ พิบูลย์

ลักษณะเด่นของปรัชญาสสารนิยทวิภาษวิธี

ลักษณะเด่นของปรัชญาสสารนิยทวิภาษวิธี

ปรัชญาสสารนิยมวิภาษวิธีของคาร์ลา มาร์กซ์

ปรัชญาสสารนิยมวิภาษวิธีของคาร์ลา มาร์กซ์